ปู่ด้วง แม่ย่าดี เป็นเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับความเคารพนับถือมากในพื้นที่แถบจังหวัดชัยภูมิ โดยเฉพาะในเขตอำเภอหนองบัวแดง อำเภอแก้งคร้อ และอำเภอเมืองฯ นอกจากบริเวณผาเกิ้งแล้ว ความเชื่อในเรื่อง ปู่ด้วง ย่าดี ยังปรากฏให้เห็นในอีกหลายพื้นที่ของจังหวัดชัยภูมิ เช่น ศาลปู่ด้วงย่าดี ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ที่ตำบลช่องสามหมอ อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ วัดพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี บ้านหนองแวง ตำบลซับสีทอง อำเภอเมืองฯ จังหวัดชัยภูมิและที่บ้านคำผักแพรว ตำบลซับสีทอง อำเภอเมืองฯ จังหวัดชัยภูมิ ฯลฯ
ในหลายท้องถิ่นมีการจัดงานประจำปีไหว้ปู่ด้วง ย่าดีด้วย เช่น ชาวบ้านที่บ้านคำผักแพรวจะช่วยกันจัดงานบูชาปู่ด้วง ย่าดี เป็นประจำทุกปีในช่วงวันขึ้น ๑-๓ ค่ำ เดือน ๓ โดยชาวบ้านจะนำเครื่องสักการะ เช่น หัวหมู เป็ด ไก่ ดอกไม้ ธูปเทียน พานบายศรี ไปกราบไหว้ปู่ด้วง ย่าดี ในงานยังมีรำแคน และมีแม่หมอกล่าวนำคำไหว้บูชา และเป็นตัวแทนขอพรให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุข ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย
ตำนานเกี่ยวกับปู่ด้วง ย่าดี ที่เล่าสืบต่อกันมานาน เล่าว่า ปู่ด้วง เป็นชาวขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ท่านเป็นนายพราน อาศัยอยู่ตามป่าบนเทือกเขาภูแลนคา ปู่ด้วงเป็นผู้มีศีล บำเพ็ญตบะบารมีไม่ทานเนื้อสัตว์ ปู่ด้วงมีหมาคู่ใจชื่อ ทอก เจ้าทอกมีความยาวถึง ๘ ศอก วันหนึ่งปู่ด้วงกับเจ้าทอกเข้าไปหาของป่า แต่ไม่พบสัตว์ป่าเลย ตกเย็นพบแลนฝูงหนึ่ง มีจ่าฝูงตัวใหญ่มาก เจ้าทอกวิ่งไล่แลนจ่าฝูงเข้าไปในป่าลึก ปู่ด้วงตามหาอยู่นาน ๓ วัน จึงพบเจ้าทอกนอนหายใจรวยรินเฝ้าศพแลนตัวนั้น แลนอยู่ในสภาพจนมุม หัวและลำตัวติดคาโพรงไม้ พอเจ้าทอกเห็นปู่ด้วงมาก็ขาดใจตายตามแลนจ่าฝูงไปชาวบ้านทั่วไปจึงขนานนามเทือกเขาที่ตัวแลนติดอยู่นั้นว่า ภูแลนคา
นอกจากนั้น ยังมีตำนานที่เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างปู่ด้วงกับเจ้าพ่อพญาแลด้วย โดยตำนานดังกล่าวเล่าว่า ปู่ด้วงเป็นคนมีฐานะดีเป็นผู้มีคาถาอาคมแก่กล้า เคยเป็นอาจารย์สอนวิชาคงกระพันชาตรีให้เจ้าพ่อพญาแล เจ้าเมืองคนแรกของชัยภูมิ
สำหรับเจ้าพ่อพญาแล หรือพระยาภักดีชุมพล (แล) นั้นท่านเป็นเจ้าเมืองคนแรกของชัยภูมิ มีเรื่องราวบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า ราวปี พ.ศ. ๒๓๖๐ (ตรงกับรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) นายแล ชาวเวียงจันทน์ พี่เลี้ยงของเจ้าอนุวงศ์ ได้พาครอบครัวและผู้คนจำนวนหนึ่งอพยพข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่แถบอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ก่อนย้ายมาปักหลักที่บ้านชีลอง จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิปัจจุบันราว ๖ กิโลเมตร นายแลได้จัดส่งส่วยเป็นบรรณาการแก่เจ้าอนุวงศ์ เจ้าอนุวงศ์จึงแต่งตั้งให้นายแลเป็นขุนภักดีชุมพล
ต่อมาราวปี พ.ศ. ๒๓๖๕ เมื่อมีผู้คนมาอยู่ในความดูแลเพิ่มขึ้น พื้นที่ที่เคยอยู่อาศัยจึงเริ่มแออัด น้ำท่าขาดแคลน ขุนภักดีชุมพล จึงพาชาวบ้านอพยพโยกย้ายมาอยู่ที่บ้านหนองปลาเฒ่าจากนั้นราวปี พ.ศ. ๒๓๖๗ ขุนภักดีชุมพลพบบ่อทองที่ลำห้วยชาดใกล้บ้านหลวง ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างหนองปลาเฒ่ากับหนองหลอดในเขตอำเภอเมืองชัยภูมิในปัจจุบัน ขุนภักดีชุมพลนำทองส่งเป็นบรรณาการให้เจ้าอนุวงศ์ เจ้าอนุวงศ์จึงให้ยกฐานะบ้านหลวงเป็นเมืองไชยภูมิ พร้อมเลื่อนบรรดาศักดิ์ขุนภักดีชุมพลเป็นพระภักดีชุมพล หลังจากนั้นไม่นาน พระภักดีชุมพลได้เปลี่ยนมาส่งส่วยทองคำให้ไทย และขอขึ้นตรงต่อนครราชสีมา ไม่ขึ้นต่อเจ้าอนุวงศ์อีกต่อไปสร้างความไม่พอใจให้ทางเวียงจันทน์มาก แต่จากเหตุการณ์ครั้งนั้นก็ทำให้มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกเมือง ไชยภูมิเป็นเมือง ชัยภูมิ และแต่งตั้งพระภักดีชุมพลเป็น พระยาภักดีชุมพลเจ้าเมืองคนแรกของเมืองชัยภูมิ ชาวชัยภูมิให้ความศรัทธาเจ้าพ่อพญาแลมาก มีการจัดงานบวงสรวงเจ้าพ่อพญาแลอย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำต่อเนื่องทุกปี
เจ้าพ่อพญาแล และปู่ด้วง นอกจากจะมีความเกี่ยวข้องกันในฐานะลูกศิษย์กับอาจารย์แล้ว ยังมีตำนานที่เล่าถึงผลกระทบจากเหตุการณ์เจ้าอนุวงศ์ ช่วงราวปี พ.ศ. ๒๓๖๙-๒๓๗๑ ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โดยเรื่องเล่าท้องถิ่นที่กล่าวถึงเจ้าพ่อพญาแล ปู่ด้วง และกบฏเจ้าอนุวงศ์นั้น เล่าว่า เจ้าอนุวงศ์ ต้องการยกทัพมาตีกรุงรัตนโกสินทร์ โดยได้ยกทัพผ่านมาทางเมืองชัยภูมิ เจ้าอนุวงศ์ได้ชักชวนเจ้าพ่อพญาแลให้เข้าร่วมทัพด้วยเพราะเห็นว่าเป็นชาวเวียงจันทน์เหมือนกัน และเจ้าพ่อพญาแล หรือพระยาภักดีชุมพลเคยเป็นข้าราชสำนักใกล้ชิด อุดหนุนเกื้อกูลกันมาก่อน แต่ก็ถูกปฏิเสธ นอกจากปฏิเสธแล้ว เจ้าพ่อพญาแลยังได้ส่งข่าวไปบอก ย่าโม ซึ่งดูแลเมืองโคราชให้รู้ข่าว ส่งผลให้ทัพของเจ้าอนุวงศ์ต้องเพลี่ยงพล้ำกุศโลบายการศึกของย่าโม เจ้าอนุวงศ์ผูกใจเจ็บ ย้อนกลับมาหาเจ้าพ่อพญาแลที่เมืองชัยภูมิอีกครั้ง สั่งให้จับตัวเจ้าพ่อพญาแลมาลงโทษด้วยวิธีต่างๆ นานา แต่ด้วยวิชาคงกระพันที่ร่ำเรียนมาจากปู่ด้วง ทำให้เจ้าพ่อพญาแลปลอดภัยจากอาวุธทั้งปวง แต่สุดท้ายแล้วก็ถูกเจ้าอนุวงศ์ใช้เหล็กแหลมเสียบเข้าทางทวารหนักจนถึงแก่ความตายในที่สุด
ในตำนานเล่าถึงผลจากเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า ปู่ด้วงเกรงภัยจะมาถึงตนและครอบครัว จึงอพยพจากบ้านตาดโตน ไปอาศัยอยู่กลางดงป่าหินโงม ปัจจุบันมี วัดปู่ด้วง ย่าดี อยู่ในบริเวณนั้นด้วย ปู่ด้วงใช้ชีวิตอยู่ในป่าอย่างเรียบง่าย ถือศีล ไม่ทานเนื้อสัตว์ ปฏิบัติธรรมเป็นปูชนียบุคคลที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมาก
ส่วนประวัติของย่าดีนั้นเล่ากันว่าย่าดีอยู่คนละช่วงสมัยกับปู่ด้วงพบว่ามีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับย่าดีเริ่มปรากฏขึ้นหลังจากที่ปู่ด้วงเสียชีวิตไปราว ๒๐ ปี ตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ย่าดีเป็นชาวเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ หลังจากแต่งงานได้อพยพตามสามีและลูกมาอยู่ที่บ้านตาดโตน แต่ไม่นานก็ป่วยหนักนอนรอวันตายคืนหนึ่งปู่ด้วงมาเข้าฝันบอกว่า ถ้าอยากหาย ให้ไปถือศีลที่บ้านหินโงม ซึ่งเป็นสถานที่ที่ปู่ด้วงเคยหนีภัยไปอยู่ ย่าดีทำตาม ไม่นานก็หายป่วย ย่าดียังคงถือศีล ปฏิบัติธรรมต่อเนื่องมาจนสิ้นอายุ
|